วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

Comets

ดาวหางและอุกกาบาต


          ดาวหาง (Comets) คือ วัตถุชนิดหนึ่งในระบบสุริยะ มีส่วนที่ระเหิดเป็นไอ เมื่อเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดชั้นฝุ่นและก๊าซที่ฝ้ามัวล้อมรอบ รวมตัวเป็นก้อนน้ำแข็งที่ประกอบไปด้วยสารหลายชนิดเป็นแกนกลาง (nucleus) ดาวหาง เป็นวัตถุฟากฟ้าที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง เมื่อโคจรเข้ามาใกล้ดวงอาทิตย์ ความร้อนจากดวงอาทิตย์จะทำให้องค์ประกอบต่างๆ ของดาวหางเกิดการระเหิดเป็นแก๊สห่อหุ้มแกนกลาง เมื่อได้รับอิทธิพลจากรังสีและลมสุริยะ ซึ่งเป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าแผ่ออกมาจากดวงอาทิตย์ ทำให้แก๊สที่ห่อหุ้มอยู่สะท้อนแสงอาทิตย์ ส่วนที่สว่างมากที่สุดของดาวหางคือ ส่วนหัว ที่ประกอบไปด้วยส่วนที่เป็นนิวเคลียสและส่วนที่เรียกว่า โคม่า (coma) ลมสุริยะ ทำให้แก๊สและฝุ่นละอองพุ่งไปในทิศทางตรงข้ามกับดวงอาทิตย์และมองเห็นเป็นส่วนหาง (tail) ดาวหางส่วนมากมีวงโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีแคบ ดังภาพ



          ดาวตก บางก็เรียกว่า "Shooting star" หรือ "Falling star" ดาวตกนั้นแท้จริงแล้วคือ เศษของฝุ่นหรือหิน ที่ถูกแรงดึงดูดของโลกดูดเข้ามาแล้วผ่านชั้นบรรยากาศเสียดสีแล้วเกิดลุกไหม้ ส่วนใหญ่แล้วดาวตกมักเกิดจากฝุ่นของดาวหาง ถ้าหากมีจำนวนมากๆ เราก็เรียกว่า ฝนดาวตก (Meteor shower) ถ้ามีอัตราการตกถี่มากตั้งแต่ 1,000 ดวงต่อนาที ก็จะเรียกว่า พายุดาวตก (Meteor storm) ถ้าฝนดาวตกที่มีอัตราการตกน้อยกว่า 10 ดวงต่อชั่วโมง เราก็เรียกว่าเป็น Minor meteor showers สำหรับเศษหินของดาวตกที่ลุกไหม้ไม่หมด แล้วตกลงถึงพื้นโลกเราก็เรียกว่า อุกกาบาต (Meteorite)


Moon

ดวงจันทร์


          ดวงจันทร์ (Moon) เป็นวัตถุท้องฟ้าที่ไม่มีแสงสว่างในตัวเอง มีสถานะเป็นของแข็ง เป็นบริวารของโลก มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 1 ใน 4 ของโลก หรือประมาณ 3,476 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากโลกประมาณ 30 เท่า ของเส้นผ่านศูนย์กลางของโลก มีการโคจร 3 แบบพร้อมๆ กัน คือ หมุนรอบตัวเอง หมุนรอบโลก และหมุนรอบดวงอาทิตย์

ดวงจันทร์เป็นวัตถุท้องฟ้าที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด จึงมีอิทธิพลต่อโลกและสิ่งแวดล้อมบนโลกหลายประการ



          ปฏิทินจันทรคติ คือ ปฏิทินที่มีการนับวันและเดือนโดยถือเอาการเดินทางของดวงจันทร์เป็นหลัก ซึ่งสังเกตจากลักษณะและตำแหน่งของดวงจันทร์ที่เห็นปรากฏบนโลกเรียกว่า ข้างขึ้นข้างแรม
  • วันข้างขึ้น คือ วันที่เห็นดวงจันทร์มากขึ้นจนถึงวันที่เห็นดวงจันทร์เต็มดวง
  • วันข้างแรม คือ วันที่มองเห็นดวงจันทร์น้อยลงจนถึงวันที่มองไม่เห็นดวงจันทร์

          ปฏิทินจันทรคติเริ่มต้นเดือนด้วยขึ้น 1 ค่ำไปจนถึงขึ้น 15 ค่ำ และต่อไปเป็นแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงแรม 14 ค่ำ เป็นวันสุดท้ายของเดือนขาด รวมเวลา 29 วัน หรือในบางเดือนจะนับวันไปจนถึง แรม 15 ค่ำ ถือว่าเป็นวันสิ้นสุดของเดือนเต็ม รวมเวลา 30 วัน โดยเฉลี่ยตลอดทั้งไป 1 เดือนจะมี 29 ½ วัน ซึ่งในแต่ละวันดวงจันทร์จะปรากฏให้เห็นมีขนาดต่างๆ กัน เพราะดวงจันทร์เคลื่อนที่รอบโลก โดยด้านที่หันมาทางโลกได้รับแสงมากขึ้นในวันข้างขึ้น และได้รับแสงลดลงในวันข้างแรม

ภาพ : แสดงการเกิดข้างขึ้นข้างแรม 

จากภาพ ตำแหน่งที่ 1 มองไม่เห็นดวงจันทร์ เพราะดวงจันทร์ด้านที่หันมาทางโลกไม่ได้รับแสงเลย ตำแหน่งนี้จะตรงกับแรม 15 ค่ำ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของเดือนเต็ม หรือ ขึ้น 1 ค่ำ ของเดือนเต็มซึ่งนับต่อจากแรม 14 ค่ำ ของเดือนขาด

ตำแหน่งที่ 5 มองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงเป็นรูปวงกลม เรียกว่า จันทร์เพ็ญ เพราะดวงจันทร์หันด้านสว่างทั้งหมดมาโลก ตรงกับขึ้น 15 ค่ำ ช่วงที่เกิดจันทร์เพ็ญ ดวงจันทร์จะขึ้นทางทิศตะวันออกในเวลาหัวค่ำ และจะตกลับขอบฟ้าทางทิศตะวันตกในเวลารุ่งเช้า

          เมื่อพิจารณาจากรูป พบว่า การเคลื่อนที่ของดวงจันทร์จะหันเข้าหาโลกด้านเดียวตลอดการเคลื่อนที่รอบโลก คือ เมื่อดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองได้ 1 รอบ ขณะเดียวกันจะหมุนรอบโลกได้ 1 รอบ เช่นกัน ซึ่งใช้เวลาประมาณ 1 เดือน

          น้ำขึ้นน้ำลง เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากอิทธิพลของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกมีแรงดึงดูดต่อกัน ทำให้ระดับน้ำทะเลบนโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นและลงวันละ 2 ครั้ง เนื่องจากดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมาก แรงดึงดูดของดวงจันทร์จึงมีอิทธิพลต่อสิ่งต่างๆ บนโลกมากกว่าดวงอาทิตย์ โดยพื้นผิวของโลกประกอบด้วยส่วนที่เป็นของแข็งและน้ำในที่ต่างๆ 

ภาพ : แสดงการเกิดน้ำขึ้นน้ำลงบนโลก 

          น้ำในมหาสมุทรขึ้นและลงครบ 1 รอบในครึ่งวัน หรือ ใน 1 วันน้ำจะขึ้นและลง 2 ครั้ง เพราะครั้งแรกน้ำขึ้นเมื่อดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกที่สุดหรือเมื่อมองเห็นดวงจันทร์อยู่สูงสุดบนท้องฟ้า และครั้งที่สองเมื่อโลกหมุนไปประมาณ 12 ชั่วโมง 25 นาที ไปอยู่ที่ตำแหน่งไกลจากดวงจันทร์มากที่สุด ในเวลาระหว่างกลางนั้นน้ำจะลง

          ในวันขึ้น 15 ค่ำ และแรม 15 ค่ำ ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์จะอยู่ในแนวเดียวกันแล้วส่งแรงดึงดูดมายังโลกมากกว่าวันอื่น ทำให้เกิดน้ำขึ้นมากกว่าวันอื่นๆ เรียกว่า วันน้ำเกิด และวันนั้นเมื่อถึงเวลาน้ำลง น้ำจะลงมากด้วยเช่นกัน ส่วนวันข้างขึ้น 7-8 ค่ำหรือแรม 7-8 ค่ำ น้ำจะขึ้นและลงไม่มาก เรียกว่า วันน้ำตาย ดังรูป


         สุริยุปราคา และจันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติที่เกิดจากดวงจันทร์หรือโลกบังทางเดินของแสงจากดวงอาทิตย์ ทำให้เกิดเงาปรากฏที่โลกหรือดวงจันทร์แล้วแต่กรณี ซึ่งทั้งโลกและดวงจันทร์เป็นวัตถุทึบ แสงที่มีขนาดเล็กกว่าดวงอาทิตย์มาก ดังนั้นเงาของโลกหรือดวงจันทร์ที่เกิดขึ้นจึงมีเงามืดลักษณะเป็นกรวยปลายแหลม และเงามืดมีลักษณะเป็นกรวยบานออกไปสู่อวกาศ
  1. การเกิดสุริยุปราคา เกิดในเวลากลางวัน ตรงกับแรม 15 ค่ำหรือ ขึ้น 1 ค่ำ เมื่อดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และโลกเคลื่อนที่อยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน คนที่อยู่ใต้เงามืดของดวงจันทร์จะเห็นดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์จนมืดมิด เรียกว่า สุริยุปราคาเต็มดวง ขณะคนที่อยู่ภายใต้เงามัวจะเห็นดวงอาทิตย์ถูกบังไม่หมด เรียกว่า สุริยุปราคาบางส่วน (การเกิด สุริยุปราคา)
  2. การเกิดจันทรุปราคา เกิดในเวลากลางคืน ขณะที่เป็นจันทร์เพ็ญ เมื่อดวงอาทิตย์ โลกและดวงจันทร์เคลื่อนที่มาเรียงอยู่ในแนวเส้นตรงเดียวกัน โดยดวงจันทร์เคลื่อนที่อยู่ตรงข้ามกับดวงอาทิตย์พอดีแล้วมีโลกอยู่ตรงกลาง ถ้าดวงจันทร์อยู่ในเงามืดทั้งดวง ดวงจันทร์จะมืดสนิทเรียกว่า จันทรุปราคาเต็มดวง ถ้าดวงจันทร์เข้าไปอยู่ในเงามืดบางส่วน เรียกว่า จันทรุปราคาบางส่วน และถ้าเข้าไปอยู่ในเงามัว เรียกว่า จันทรุปราคาในเงามัว (การเกิด จันทรุปราคา)




Sun

ดวงอาทิตย์

ดวงอาทิตย์ (Sun) เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะ เป็นดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกมากที่สุด ปรากฏให้เห็นเป็นดวงกลมขนาดใหญ่ จัดเป็นดาวฤกษ์ขนาดกลางประกอบขึ้นด้วยก๊าซไฮโดรเจน (H2) และก๊าซฮีเลียม (He) เป็นส่วนใหญ่ พลังงานของดวงอาทิตย์เกิดจากปฏิกิริยาการรวมตัวกันของไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม ซึ่งปฏิกิริยาเดียวกันนี้เกิดขึ้นในระเบิดไฮโดรเจนเรียกว่า ปฏิกิริยาฟิวชัน (fusion) ทำให้พลังงานออกมามหาศาลในดวงอาทิตย์จึงมีอุณหภูมิสูงมากประมาณ 15 ล้านองศาเซลเซียส พลังงานจะถูกถ่ายทอดมาสู่ผิวและแผ่รังสีออกไปโดยรอบระบบสุริยะในลักษณะคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ดวงอาทิตย์จึงเป็นต้นกำเนิดของระบบสุริยะรวมทั้งโลกมนุษย์ของเราด้วย
ดวงอาทิตย์มีเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 109 เท่าของโลก เนื่องจากดวงอาทิตย์มีขนาดใหญ่และมีเนื้อสารมาก จึงมีแรงโน้มถ่วงสูงพอที่จะดึงดูดให้บริวารเคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์เป็นวงรีได้
นักดาราศาสตร์ได้กำหนดให้ระยะทางเฉลี่ยระหว่างดวงอาทิตย์กับโลกเป็น 1 หน่วย เรียกว่า 1 หน่วยดาราศาสตร์ (astronomical unit ; AU) เท่ากับ 149.6 ล้านกิโลเมตร ซึ่งสามารถแสดงระยะห่างของดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจากดวงอาทิตย์ในหน่วยดาราศาสตร์ได้ ดังนี้
ระยะห่างระหว่างดวงอาทิตย์กับดาวเคราะห์ โดยประมาณในหน่วยดาราศาสตร์



           ที่ผิวของดวงอาทิตย์มีอุณหภูมิประมาณ 5,700 องศาเซลเซียส หรือประมาณ 6,000 เคลวิน ดวงอาทิตย์จึงถูกจัดเป็นดาวฤกษ์สีเหลือง มีอายุประมาณ 5,000 ล้านปี เป็นดาวฤกษ์หลัก อยู่ในช่วงกลางของชีวิต ในอีก 5,000 ล้านปี ดวงอาทิตย์จะจบ ชีวิตลงด้วยการขยายตัวแต่จะไม่ระเบิด เพราะแรงโน้มถ่วงมีมากกว่าแรงดัน ในที่สุด ดวงอาทิตย์จะยุบตัวลงอย่างสงบกลายเป็นดาวขนาดเล็ก เรียกว่า ดาวแคระขาว 




จุดมืดบนดวงอาทิตย์

           เมื่อสังเกตพื้นผิวดวงอาทิตย์จากภาพถ่ายผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือดูภาพดวงอาทิตย์บนฉากของกล้องโทรทรรศน์ จะพบว่าพื้นผิวดวงอาทิตย์ไม่สม่ำเสมอ แต่มีบริเวณมืดเกิดขึ้นเป็นหย่อมๆ เปลี่ยนแปลงไม่คงที่ เราเรียกบริเวณมืดเหล่านี้ว่า จุดดำ หรือ จุดมืด บนดวงอาทิตย์ (Sunspot)
           จุดดำเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิต่ำกว่าบริเวณข้างเคียงซึ่งมีอุณหภูมิสูงประมาณ 6,000 เคลวิน ในขณะที่บริเวณจุดดำมีอุณหภูมิ 4,000 เคลวิน เมื่อดูจุดมืดหรือจุดดำให้ละเอียด จะพบว่าใจกลางของจุดมืดมีความมืดมากกว่าขอบรอบนอก
           ยังไม่ทราบชัดเจนว่าจุดเกิดจากอะไร แต่มีการค้นพบว่าบริเวณจุดเป็นบริเวณที่มีความเข้มของสนามแม่เหล็กสูงมาก สนามแม่เหล็กบริเวณทั่วไปไม่ถึง 1 เกาสส์ แต่บริเวณจุดสูงหลายพันเกาสส์


จุดบนดวงอาทิตย์เกิดขึ้นและหายไปโดยมีอายุประมาณ 1 เดือน จุดมักจะเกิดขึ้นเป็นคู่ๆ อยู่ใกล้กัน คล้ายมีแม่เหล็กเกือกม้าฝังอยู่ภายในดวงอาทิตย์ จำนวนจุดไม่คงที่ แต่จะเปลี่ยนทุกปี บางปีมีจุดมาก บางปีมีจุดน้อย จำนวนจุดจะมีมากทุกๆ 11 ปี

          มีปรากฏการณ์อย่างหนึ่งที่เกิดขึ้นในบริเวณจุดโดยไม่สามารถทราบล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า การระเบิดจ้าบนดวงอาทิตย์ การระเบิดจ้าเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวในระยะเวลาสั้นๆ การระเบิดจ้า คือการที่พลังงานและอนุภาคของดวงอาทิตย์พุ่งออกจากพื้นผิวสู่อวกาศ พลังงานและอนุภาคส่วนหนึ่งจะมาถึงโลก อนุภาคที่เดินทางมาถึงบรรยากาศโลกคือโปรตอนและอิเล็กตรอน ซึ่งจะมาทำปฏิกิริยากับโมเลกุลของก๊าซในบรรยากาศ เกิดปรากฏการณ์แสงเหนือแสงใต้ ทั้งนี้เพราะสนามแม่เหล็กโลกจะป้องกันไม่ให้อนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าเข้าสู่พื้นผิวโลกแถบเส้นศูนย์สูตรแต่จะเข้าสู่บรรยากาศชั้นต่ำๆ ได้ง่ายทางขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้

          ผลกระทบอย่างที่สองที่การระเบิดจ้ามีอิทธิพลต่อโลกคือ การสื่อสารโดยวิทยุคลื่นสั้นและการเดินของกระแสไฟฟ้าถูกรบกวน ทั้งนี้เพราะอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้าจากดวงอาทิตย์ทำให้เกิดพายุแม่เหล็กบนโลก การสะท้อนคลื่นวิทยุของบรรยากาศและการเดินของกระแสไฟฟ้าจึงไม่สม่ำเสมอ


          ผลกระทบประการที่สามที่การระเบิดจ้ามีอิทธิพลต่อโลกคือ พลังงานจากการระเบิดจ้าแผ่มาถึงบรรยากาศชั้นบนโลก ทำให้อากาศขยายตัวลอยสูงขึ้นไปอีก อาจขึ้นไปสูงถึงระดับ 400-500 กิโลเมตรเหนือผิวโลกซึ่งเป็นระดับที่สถานีอวกาศหรือยานอวกาศขนาดใหญ่โคจรอยู่รอบโลก โมเลกุลของอากาศเหล่านี้จะปะทะการเคลื่อนที่ของสถานีอวกาศหรือยานอวกาศเป็นผลให้สถานีอวกาศเคลื่อนที่ช้าลง ผลที่ตามมาคือสถานีอวกาศเข้าใกล้โลกมากขึ้น หากไม่ช่วยให้ยานอวกาศมีความเร็วเพิ่มขึ้น เพื่อยกระดับความสูงแล้วสถานีอวกาศก็จะตกลงสู่โลกเร็วก่อนกำหนด อย่างเช่น สกายแล็บที่เคยตกมาแล้วเมื่อ พ.ศ.2516


วันจันทร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2556

Solar System

ระบบสุริยะ

 
ระบบสุริยะ


ระบบสุริยะ ประกอบด้วยดวงอาทิตย์และวัตถุอื่นๆ ที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ เช่น ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และดาวบริวาร โลกเป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เป็นลำดับที่ 3 โดยทั่วไป ถ้าให้ถูกต้องที่สุดควรเรียกว่า ระบบดาวเคราะห์ เมื่อกล่าวถึงระบบที่มีวัตถุต่างๆ โคจรรอบดาวฤกษ์
ระบบสุริยะ คือระบบดาวที่มีดาวฤกษ์เป็นศูนย์กลาง และมีดาวเคราะห์ (Planet) เป็นบริวารโคจรอยู่โดยรอบ เมื่อสภาพแวดล้อมเอื้ออำนวย ต่อการดำรงชีวิต สิ่งมีชีวิตก็จะเกิดขึ้นบนดาวเคราะห์เหล่านั้น หรือ บริวารของดาวเคราะห์เองที่เรียกว่าดวงจันทร์ (Satellite) นักดาราศาสตร์เชื่อว่า ในบรรดาดาวฤกษ์ทั้งหมดกว่าแสนล้านดวงในกาแลกซี่ทางช้างเผือก ต้องมีระบบสุริยะที่เอื้ออำนวยชีวิตอย่าง ระบบสุริยะที่โลกของเราเป็นบริวารอยู่อย่างแน่นอน
เพียงแต่ว่าระยะทางไกลมากเกินกว่าความสามารถในการติดต่อจะทำได้ถึงที่โลกของเราอยู่เป็นระบบที่ประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ (The sun) เป็นศูนย์กลาง มีดาวเคราะห์ (Planets) 9 ดวง ที่เราเรียกกันว่า ดาวนพเคราะห์ ( นพ แปลว่า เก้า) เรียงตามลำดับ จากในสุดคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน ดาวพลูโต ( ตอนนี้ไม่มีพลูโตแร้ว เหลือแค่ 8 ดวง )
และยังมีดวงจันทร์บริวารของ ดวงเคราะห์แต่ละดวง (Moon of sattelites) ยกเว้นเพียง สองดวงคือ ดาวพุธ และ ดาวศุกร์ ที่ไม่มีบริวาร ดาวเคราะห์น้อย (Minor planets) ดาวหาง (Comets) อุกกาบาต (Meteorites) ตลอดจนกลุ่มฝุ่นและก๊าซ ซึ่งเคลื่อนที่อยู่ในวงโคจร ภายใต้อิทธิพลแรงดึงดูด จากดวงอาทิตย์ ขนาดของระบบสุริยะ กว้างใหญ่ไพศาลมาก เมื่อเทียบระยะทาง ระหว่างโลกกับดวงอาทิตย์

ซึ่งมีระยะทางประมาณ 150 ล้านกิโลเมตร หรือ 1au.(astronomy unit) หน่วยดาราศาสตร์ กล่าวคือ ระบบสุริยะมีระยะทางไกลไปจนถึงวงโคจร ของดาวพลูโต ดาว เคราะห์ที่มีขนาดเล็กที่สุด ในระบบสุริยะ ซึ่งอยู่ไกล เป็นระยะทาง 40 เท่าของ 1 หน่วยดาราศาสตร์ และยังไกลห่างออก ไปอีกจนถึงดงดาวหางอ๊อต (Oort's Cloud) ซึ่งอาจอยู่ไกลถึง 500,000 เท่า ของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ด้วย ดวงอาทิตย์มีมวล มากกว่าร้อยละ 99 ของมวลทั้งหมดในระบบสุริยะที่เหลือ
          นอกนั้นจะเป็นมวลของ เทหวัตถุต่างๆ ซึ่งประกอบด้วยดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และอุกกาบาต รวมไปถึงฝุ่นและก๊าซ ที่ล่องลอยระหว่าง ดาวเคราะห์ แต่ละดวง โดยมีแรงดึงดูด (Gravity) เป็นแรงควบคุมระบบสุริยะ ให้เทหวัตถุบนฟ้าทั้งหมด เคลื่อนที่เป็นไปตามกฏแรง แรงโน้มถ่วงของนิวตัน ดวงอาทิตย์แพร่พลังงาน ออกมา ด้วยอัตราประมาณ 90,000,000,000,000,000,000,000,000 แคลอรีต่อวินาที
เป็นพลังงานที่เกิดจากปฏิกริยาเทอร์โมนิวเคลียร์ โดยการเปลี่ยนไฮโดรเจนเป็นฮีเลียม ซึ่งเป็นแหล่งความร้อนให้กับดาว ดาวเคราะห์ต่างๆ ถึงแม้ว่าดวงอาทิตย์ จะเสียไฮโดรเจนไปถึง 4,000,000 ตันต่อวินาทีก็ตาม แต่นักวิทยาศาสตร์ก็ยังมีความเชื่อว่าดวงอาทิตย์ จะยังคงแพร่พลังงานออกมา ในอัตราที่เท่ากันนี้ได้อีกนานหลายพันล้านปี
ชื่อของดาวเคราะห์ทั้ง 9 ดวงยกเว้นโลก ถูกตั้งชื่อตามเทพของชาวกรีก เพราะเชื่อว่าเทพเหล่านั้นอยู่บนสรวงสวรค์ และเคารพบูชาแต่โบราณกาล ในสมัยโบราณจะรู้จักดาวเคราะห์เพียง 5 ดวงเท่านั้น(ไม่นับโลกของเรา) เพราะสามารถเห็นได้ ด้วยตาเปล่าคือ ดาวพุธ ดาวศุกร์ ดาวอังคาร ดาวพฤหัส ดาวเสาร์ ประกอบกับดวงอาทิตย์ และดวงจันทร์ รวมเป็น 7 ทำให้เกิดวันทั้ง 7 ในสัปดาห์นั่นเอง และดาวทั้ง 7 นี้จึงมีอิทธิพลกับดวงชะตาชีวิตของคนเราตามความเชื่อถือทางโหราศาสตร์ ส่วนดาวเคราะห์อีก 3 ดวง คือ ดาวยูเรนัส ดาวเนปจูน ดาวพลูโต ถูกค้นพบภายหลัง แต่นักดาราศาสตร์ก็ตั้งชื่อตามเทพของกรีก เพื่อให้สอดคล้องกันนั่นเอง



ทฤษฎีการกำเนิดของระบบสุริยะ


หลักฐานที่สำคัญของการกำเนิดของระบบสุริยะก็คือ การเรียงตัว และการเคลื่อนที่อย่างเป็นระบบระเบียบของดาว เคราะห์ ดวงจันทร์บริวาร ของดาวเคราะห์ และดาวเคราะห์น้อย ที่แสดงให้เห็นว่าเทหวัตถุ ทั้งมวลบนฟ้า นั้นเป็นของ ระบบสุริยะ ซึ่งจะเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้เลย ที่เทหวัตถุท้องฟ้าหลายพันดวงจะมีระบบโดยบังเอิญโดยมิได้มีจุดกำเนิดร่วมกัน 
Piere Simon Laplace ได้เสนอทฤษฎีจุดกำเนิดของระบบสุริยะ ไว้เมื่อปี ค.ศ.1796 กล่าวว่า ในระบบสุริยะจะมีมวลของก๊าซรูปร่างเป็นจานแบนๆ ขนาดมหึมาหมุนรอบ ตัวเองอยู่ ในขณะที่หมุนรอบตัวเองนั้นจะเกิดการหดตัวลง เพราะแรงดึงดูดของมวลก๊าซ ซึ่งจะทำให้อัตราการหมุนรอบตัวเองนั้นจะเกิดการหดตัวลงเพราะแรงดึงดูดของก๊าซ ซึ่งจะทำให้อัตราการ หมุนรอบตังเองมีความเร็วสูงขึ้นเพื่อรักษาโมเมนตัมเชิงมุม (Angular Momentum) ในที่สุด
เมื่อความเร็วมีอัตราสูงขึ้น จนกระทั่งแรงหนีศูนย์กลางที่ขอบของกลุ่มก๊าซมีมากกว่าแรงดึงดูด ก็จะทำให้เกิดมีวงแหวน ของกลุ่มก๊าซแยก ตัวออกไปจากศุนย์กลางของกลุ่มก๊าซเดิม และเมื่อเกิดการหดตัวอีกก็จะมีวงแหวนของกลุ่มก๊าซเพิ่มขึ้นต่อไปเรื่อยๆ วงแหวนที่แยกตัวไปจากศูนย์กลางของวงแหวนแต่ละวงจะมีความกว้างไม่เท่ากัน ตรงบริเวณที่มีความหนาแน่นมากที่สุดของวงจะคอยดึงวัตถุทั้งหมดในวงแหวน มารวมกันแล้วกลั่นตัวเป็นดาวเคราะห์ ดวงจันทร์ของดาว ดาวเคราะห์จะเกิดขึ้นจากการหดตัวของดาวเคราะห์
สำหรับดาวหางและสะเก็ดดาวนั้น เกิดขึ้นจากเศษหลงเหลือระหว่าง การเกิดของดาวเคราะห์ดวงต่างๆ ดังนั้นดวงอาทิตย์ในปัจจุบันก็คือ มวลก๊าซ ดั้งเดิมที่ทำให้เกิดระบบสุริยะขึ้นมานั่นเอง นอกจากนี้ยังมีอีกหลายทฤษฎีที่มีความเชื่อในการเกิดระบบสุริยะ แต่ในที่สุดก็มีความเห็นคล้ายๆ กับแนวทฤษฎีของ Laplace ตัวอย่างเช่น ทฤษฎีของ Coral Von Weizsacker นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ชาวเยอรมัน ซึ่งกล่าวว่า มีวงกลมของกลุ่มก๊าซและฝุ่นละอองหรือเนบิวลา ต้นกำเนิดดวงอาทิตย์ (Solar Nebular) ห้อมล้อมอยู่รอบดวงอาทิตย์ 
ขณะที่ดวงอาทิตย์เกิดใหม่ๆ และละอองสสารในกลุ่มก๊าซ เกิดการกระแทกซึ่งกันและกัน แล้วกลายเป็นกลุ่มก้อนสสาร ขนาดใหญ่ จนกลายเป็นเทหวัตถุแข็ง เกิดขั้นในวงโคจรของดวงอาทิตย์ ซึ่งเราเรียกว่า ดาวเคราะห์และดวงจันทร์ของดาวเคราะห์นั่นเอง
ระบบสุริยะของเรามีขนาดใหญ่โตมากเมื่อเทียบกับโลกที่เราอาศัยอยู่ แต่มีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับกาแล็กซีของเราหรือ กาแล็กซีทางช้างเผือก ระบบสุริยะตั้งอยู่ในบริเวณวงแขนของกาแล็กซีทางช้างเผือก (Milky Way) ซึ่งเปรียบเสมือนวงล้อยักษ์ที่หมุนอยู่ในอวกาศ โดยระบบสุริยะ จะอยู่ห่างจากจุดศูนย์กลางของกาแล็กซีทางช้างเผือกประมาณ 30,000 ปีแสง ดวงอาทิตย์ จะใช้เวลาประมาณ 225 ล้านปี ในการเคลื่อนครบรอบจุดศูนย์กลาง ของกาแล็กซี ทางช้างเผือกครบ 1 รอบ
นักดาราศาสตร์จึงมีความเห็นร่วมกันว่า เทหวัตถุทั้งมวลในระบบสุริยะไม่ว่าจะเป็นดาวเคราะห์ทุกดวง ดวงจันทร์ของ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดาวหาง และอุกกาบาต เกิดขึ้นมาพร้อมๆกัน มีอายุเท่ากันตามทฤษฎีจุดกำเนิดของระบบ สุริยะ และจากการนำ เอาหิน จากดวงจันทร์มา วิเคราะห์การสลายตัว ของสารกัมมันตภาพรังสี ทำให้ทราบว่าดวงจันทร์มี อายุประมาณ 4,600 ล้านปี
ในขณะเดียวกัน นักธรณีวิทยาก็ได้คำนวณ หาอายุของหินบนผิวโลก จากการสลายตัว ของอตอม อะตอมยูเรเนียม และสารไอโซโทป ของธาตุตะกั่ว ทำให้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า โลก ดวงจันทร์ อุกกาบาต มีอายุประมาณ 4,600 ล้านปี และอายุของ ระบบสุริยะ นับตั้งแต่เริ่มเกิดจากฝุ่นละอองก๊าซ ในอวกาศ จึงมีอายุไม่เกิน 5000 ล้านปี ในบรรดาสมาชิกของระบบสุริยะซึ่งประกอบด้วย ดวงอาทิตย์ ดาวเคราะห์ ดาวเคราะห์น้อย ดวงจันทร์ ของดาวเคราะห์ดาวหาง อุกกาบาต สะเก็ดดาว รวมทั้งฝุ่นละองก๊าซ อีกมากมาย นั้นดวงอาทิตย์และดาวเคราะห์ 9 ดวง จะได้รับความสนใจมากที่สุดจากนักดาราศาสตร์

 
วัตถุในระบบสุริยะ

ดวงอาทิตย์ เป็นดาวฤกษ์ที่มีชนิดสเปกตรัม G2 มีมวลประมาณ 99.86% ของทั้งระบบ ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะมี 8 ดวง ได้แก่ ดาวพุธ ดาวศุกร์ โลก ดาวอังคาร ดาวพฤหัสบดี ดาวเสาร์ ดาวยูเรนัส และ ดาวเนปจูน
ดาวบริวาร คือ วัตถุที่โคจรรอบดาวเคราะห์ ฝุ่นและอนุภาคขนาดเล็กอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็นวงแหวนโคจรรอบดาวเคราะห์ ขยะอวกาศที่โคจรรอบโลก เป็นชิ้นส่วนของจรวด ยานอวกาศ หรือดาวเทียมที่มนุษย์สร้างขึ้น
ซากจากการก่อตัวของดาวเคราะห์ เป็นเศษฝุ่นที่จับตัวกันในยุคแรกที่ระบบสุริยะก่อกำเนิด อาจหมายรวมถึงดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง
ดาวเคราะห์น้อย คือ วัตถุที่มีขนาดเล็กกว่าดาวเคราะห์ ส่วนใหญ่มีวงโคจรไม่เกินวงโคจรของดาวพฤหัสบดี อาจแบ่งได้เป็นกลุ่มและวงศ์ ตามลักษณะวงโคจร
ดาวบริวารดาวเคราะห์น้อย คือ ดาวเคราะห์น้อยขนาดเล็กที่โคจรรอบดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดใหญ่กว่าหรืออาจมีขนาดพอๆ กัน
ดาวเคราะห์น้อยทรอย คือ ดาวเคราะห์น้อยที่มีวงโคจรอยู่ในแนววงโคจรของดาวพฤหัสบดีที่จุด L4 หรือ L5 อาจใช้ชื่อนี้สำหรับดาวเคราะห์น้อยที่อยู่ที่จุดลากรางจ์ของดาวเคราะห์ดวงอื่นๆ ด้วย
สะเก็ดดาว คือ ดาวเคราะห์น้อยที่มีขนาดเท่าก้อนหินขนาดใหญ่ลงไปถึงผงฝุ่น

ดาวหาง คือ วัตถุที่มีองค์ประกอบส่วนใหญ่เป็นน้ำแข็ง มีวงโคจรที่มีความรีสูง โดยปกติจะมีจุดใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดอยู่ภายในวงโคจรของดาวเคราะห์วงใน และมีจุดไกลดวงอาทิตย์ที่สุดห่างไกลเลยวงโคจรของดาวพลูโต ดาวหางคาบ สั้นมีวงโคจรใกล้ดวงอาทิตย์มากกว่านี้ อย่างไรก็ตาม ดาวหางที่มีอายุเก่าแก่มักสูญเสียน้ำแข็งไปหมดจนกลายเป็นดาวเคราะห์น้อย ดาวหางที่มีวงโคจรเป็นรูปไฮเพอร์โบลา อาจมีกำเนิดจากภายนอกระบบสุริยะ
เซนทอร์ คือ วัตถุคล้ายดาวหางที่มีวงโคจรรีน้อยกว่าดาวหาง มักอยู่ในบริเวณระหว่างวงโคจรของดาวพฤหัสบดีและดาวเนปจูน
วัตถุทีเอ็นโอ คือ วัตถุที่มีกึ่งแกนเอกของวงโคจรเลยดาวเนปจูนออกไป

วัตถุแถบไคเปอร์ มีวงโคจรอยู่ระหว่าง 30 ถึง 50 หน่วยดาราศาสตร์ คาดว่าเป็นที่กำเนิดของดาวหางคาบสั้น บางครั้งจัดดาวพลูโตเป็นวัตถุประเภทนี้ด้วย นอกเหนือจากการเป็นดาวเคราะห์ จึงเรียกชื่อวัตถุที่มีวงโคจรคล้ายดาวพลูโตว่าพลูติโน
วัตถุเมฆออร์ต คือ วัตถุที่คาดว่ามีวงโคจรอยู่ระหว่าง 50,000 ถึง 100,000 หน่วยดาราศาสตร์ ซึ่งเชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของดาวหางคาบยาว
เซดนา วัตถุที่เพิ่งค้นพบเมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งมีวงโคจรเป็นวงรีสูงมาก ห่างดวงอาทิตย์ระหว่าง 76-850 หน่วยดาราศาสตร์ ไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทใดได้ แม้ว่าผู้ค้นพบให้เหตุผลสนับสนุนว่ามันอาจเป็นส่วนหนึ่งของเมฆออร์ต ฝุ่นซึ่งกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปในระบบสุริยะ อาจเป็นสาเหตุของปรากฏการณ์แสงจักรราศี ฝุ่นบางส่วนอาจเป็นฝุ่นระหว่างดาวที่มาจากนอกระบบสุริยะ


ดาวเคราะห์ในระบบสุริยะจักรวาล

ดวงอาทิตย์ (Sun)
เป็นศูนย์กลางของระบบสุริยะจักรวาล อยู่ห่างจากโลกเป็นระยะทางประมาณ 93 ล้านไมล์ และมีขนาดใหญ่กว่าโลกมากกว่า 1 ล้านเท่า มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางยาวกว่าโลก 100 เท่า ดวงอาทิตย์เป็นดาวฤกษ์ที่มีแสงสว่างในตัวเอง ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่สำคัญของโลก อุณหภูมิของดวงอาทิตย์อยู่ระหว่าง 5,500 - 6,100 องศาเซลเซียส พลังงานของดวงอาทิตย์ทั้งหมดเกิดจากก๊าซไฮโดรเจน โดยพลังงานดังกล่าวเกิดจากปฏิกริยานิวเคลียร์ภายใต้สภาพความกดดันสูงของดวงอาทิตย์ ทำให้อะตอมของไฮโดรเจนซึ่งมีอยู่มากบนดวงอาทิตย์ทำปฏิกริยาเปลี่ยนเป็นฮีเลียม
ซึ่งจะส่งผ่านพลังงานดังกล่าวมาถึงโลกได้เพียง 1 ใน 200 ล้านของพลังงานทั้งหมด นอกจากนั้นบนพื้นผิวของดวงอาทิตย์ยังเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงของพลังงานความร้อนบนดวงอาทิตย์อันเนื่องมาจากจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการแปรผันของพายุแม่เหล็ก และพลังงานความร้อน ทำให้อนุภาคโปรตรอนและอิเล็กตรอนหลุดจากพื้นผิวดวงอาทิตย์สู่ห้วงอวกาศ เรียกว่า ลมสุริยะ (Solar Wind) และแสงเหนือและใต้ (Aurora) เป็นปรากฏการณ์ที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้
การเกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์ (Sunspot) บางครั้งเราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า และจะเห็นได้ชัดเจนเวลาดวงอาทิตย์ใกล้ตกดิน จุดดับของดวงอาทิตย์จะอยู่ประมาณ 30 องศาเหนือ และ ใต้ จากเส้นศูนย์สูตร ที่เห็นเป็นจุดสีดำบริเวณดวงอาทิตย์เนื่องจากเป็นจุดที่มีแสงสว่างน้อย มีอุณหภูมิประมาณ 4,500 องศาเซลเซียส ต่ำกว่าบริเวณโดยรอบประมาณ 2,800 องศาเซลเซียส นักวิทยาศาสตร์สันนิษฐานว่าก่อนเกิดจุดดับบนดวงอาทิตย์นั้น ได้รับอิทธิพลจากอำนาจแม่เหล็กไฟฟ้าบริเวณพื้นผิวดวงอาทิตย์มีการเปลี่ยนแปลง ทำให้อุณหภูมิบริเวณดังกล่าวต่ำกว่าบริเวณอื่นๆ และเกิดเป็นจุดดับบนดวงอาทิตย์
แสงเหนือและแสงใต้ (Aurora) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดบริเวณขั้วโลกเหนือ และขั้วโลกใต้ มีลักษณะเป็นลำแสงที่มีวงโค้ง เป็นม่าน หรือ เป็นแผ่น เกิดเหนือพื้นโลกประมาณ 100 - 300 กิโลเมตร ณ ระดับความสูงดังกล่าวก๊าซต่างๆ จะเกิดการแตกตัวเป็นอนุภาคที่มีประจุไฟฟ้า และเมื่อถูกแสงอาทิตย์จะเกิดปฏิกริยาที่ซับซ้อนทำให้มองเห็นแสงตกกระทบเป็นแสงสีแดง สีเขียว หรือ สีขาว บริเวณขั้วโลกทั้งสองมีแนวที่เกิดแสงเหนือและแสงใต้บ่อย เราเรียกว่า "เขตออโรรา" (Aurora Zone)



ดาวพุธ (Mercury)
เป็นดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้กับดวงอาทิตย์มากที่สุด สังเกตเห็นด้วยตาเปล่าได้ตอนใกล้ค่ำและ ช่วงรุ่งเช้า ดาวพุธไม่มีดวงจันทร์เป็นดาวบริวาร ดาวพุธหมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันตกไปยังทิศตะวันออกกินเวลา ประมาณ 58 - 59 วัน และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา 88 วัน



ดาวศุกร์ (Venus)
สังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า โดยสามารถมองเห็นได้ทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันตกในเวลาใกล้ค่ำ เราเรียกว่า "ดาวประจำเมือง" (Evening Star) ส่วนช่วงเช้ามืดปรากฏให้เห็นทางขอบฟ้าด้านทิศตะวันออกเรียกว่า "ดาวรุ่ง" (Morning Star) เรามักสังเกตเห็นดาวศุกร์มีแสงส่องสว่างมากเนื่องจาก ดาวศุกร์มีชั้นบรรยากาศที่ประกอบไปด้วยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มีผลทำให้อุณหภูมิพื้นผิวสูงขึ้น ดาวศุกร์หมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันออกไปยังทิศตะวันตก ไม่มีดวงจันทร์เป็นดาวบริวาร



โลก (Earth)
โลกเป็นดาวเคราะห์ดวงเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตอาศัยอยู่ เนื่องจากมีชั้นบรรยากาศและมีระยะห่าง จากดวงอาทิตย์ที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตและการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต นักดาราศาสตร์อธิบายเกี่ยวกับการเกิดโลกว่า โลกเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มก๊าซ และมีการเคลื่อนทีสลับซับซ้อนมาก โดยเราจะได้ศึกษาในรายละเอียดต่อไป



ดาวอังคาร (Mars)
อยู่ห่างจากโลกของเราเพียง 35 ล้านไมล์ และ 234 ล้านไมล์ เนื่องจากมีวงโคจรรอบดวง อาทิตย์เป็นวงรี พื้นผิวดาวอังคารมีปรากฏการณ์เมฆและพายุฝุ่นเสมอ เป็นที่น่าสนใจในการศึกษาของนักวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก เนื่องจากมีลักษณะและองค์ประกอบที่ใกล้เคียงกับโลก เช่น มีระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเอง 1 วัน เท่ากับ 24.6 ชั่วโมง และระยะเวลาใน 1 ปี เมื่อเทียบกับโลกเท่ากับ 1.9 มีการเอียงของแกน 25 องศา ดาวอังคารมีดวงจันทร์เป็นบริวาร 2 ดวง



ดาวพฤหัสบดี (Jupiter)
เป็นดาวเคราะห์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล หมุนรอบตัวเอง 1 รอบใช้เวลา 9.8 ชั่วโมง ซึ่งเร็วที่สุดในบรรดาดาวเคราะห์ทั้งหลาย และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา12 ปี นักดาราศาสตร์อธิบายว่า ดาวพฤหัสเป็นกลุ่มก้อนก๊าซหรือของเหลวขนาดใหญ่ ที่ไม่มีส่วนที่เป็นของแข็งเหมือนโลก และเป็นดาวเคราะห์ที่มีดวงจันทร์เป็นดาวบริวารมากถึง 16 ดวง



ดาวเสาร์ (Saturn)
เป็นดาวเคราะห์ที่เราสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า เป็นดาวที่ประกอบไปด้วยก๊าซและของ เหลวสีค่อนข้างเหลือง หมุนรอบตัวเอง 1 รอบใช้เวลา 10.2 ชั่วโมง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบใช้เวลา 29 ปี ลักษณะเด่นของดาวเสาร์ คือ มีวงแหวนล้อมรอบ ซึ่งวงแหวนดังกล่าวเป็นอนุภาคเล็กๆ หลายชนิดที่หมุนรอบดาวเสาร์มีวงแหวนจำนวน 3 ชั้น ดาวเสาร์มีดวงจันทร์เป็นดาวบริวาร 1 ดวง และมีดวงจันทร์ดวงหนึ่งชื่อ Titan ซึ่งถือว่าเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในระบบสุริยะจักรวาล



ดาวยูเรนัส (Uranus)
หมุนรอบตัวเอง 1 รอบ ใช้เวลา 16.8 ชั่วโมง และโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ ใช้เวลา 84 ปี ดาวยูเรนัสประกอบด้วยก๊าซและของเหลว เช่นเดียวกับ ดาวพฤหัส และดาวเสาร์ 4.8 ดาวเนปจูน (Neptune) เป็นดาวเคราะห์ที่มีระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ เท่ากับ 17.8 ชั่วโมง และระยะ เวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ เท่ากับ 165 ปี มีดวงจันทร์เป็นดาวบริวาร 2 ดวง


ดาวเนปจูน (Neptune)
ดาวเนปจูนอยู่โคจรอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์เฉลี่ย 4,500 ล้านกิโลเมตร หรือประมาณ 30 เท่าของระยะทางจากโลกถึงดวงอาทิตย์ เวลา 1 ปีของดาวเนปจูนหรือระยะเวลาที่ดาวเนปจูนใช้ในการโคจรรอบดวงอาทิตย์หนึ่งรอบยาวถึง 165 ปีของโลก นั่นคือตั้งแต่เรารู้จักดาวเนปจูนในปี ค.ศ. 1848 ดาวเนปจูนยังโคจรรอบดวงอาทิตย์ไม่ครบหนึ่งรอบเสียด้วยซ้ำ ที่ระยะห่างนี้แม้แต่แสงจากดวงอาทิตย์ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 4 ชั่วโมง จึงจะเดินทางถึงดาวเนปจูน (ในขณะที่ใช้เวลาเพียง 8 นาที 20 วินาที ในการเดินทางมาถึงโลก)

ดาวพลูโต (Pluto)

เป็นดาวเคราะห์ดวงสุดท้ายของระบบสุริยะจักรวาล มีระยะเวลาในการหมุนรอบตัวเอง 1 รอบ รอบ เท่ากับ 453 ชั่วโมง ระยะเวลาในการโคจรรอบดวงอาทิตย์ 1 รอบ เท่ากับ 248 ปี เป็นดวงดาวที่มีขนาดใกล้เคียงกับดาวพุธ และมีระยะห่างจากดวงอาทิตย์มากที่สุด